ที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อ

on . Posted in จังหวัดระนอง

l01

ระนองเป็นจังหวัดแรกบนฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งอยู่บนส่วนที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายู ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของภาคใต้ ประมาณละติจูดที่ 10 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 99 องศาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางรถยนต์ถนนเพชรเกษมประมาณ 580 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 3,298.045 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะรูปร่างเรียวยาวและแคบ ความยาวจากเหนือสุดถึงใต้สุดประมาณ 169 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 44 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณคอคอดกระในเขตอำเภอกระบุรี มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดอื่น ๆ ดังนี้
  • ทิศเหนือ ติดต่อ จังหวัดชุมพร และสหภาพพม่า
  • ทิศใต้ ติดต่อ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา
  • ทิศตะวันออก ติดต่อ จังหวัดชุมพร
  • ทิศตะวันตก ติดต่อ ทะเลอันดามัน และพรมแดนไทยกับสหภาพพม่า

ลักษณะภูมิประเทศ

ประกอบด้วยภูเขา ทิวเขาประมาณร้อยละ 86 ของพื้นที่ บนเขตเทือกเขาภูเก็ตและมีที่ราบประมาณร้อยละ 14 ของพื้นที่ แบ่งออกเป็น 2 เขตดังนี้
1.เขตภูเขาและที่สูง อยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัด เป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องจากเทือกเขาตะนาวศรีวางตัวในทิศทางจากเหนือไปใต้ และลาดเอียงสู่ทะเลอันดามัน เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญ เช่น แม่น้ำกระบุรี คลองละอุ่น เป็นต้น
2.เขตที่ราบชายฝั่ง พื้นที่ด้านตะวันตกของจังหวัด เป็นบริเวณที่ถูกทับถมเป็นที่ราบ ซึ่งเป็นที่ราบแคบ ๆ กว้างประมาณ 5-20 กิโลเมตร พบบริเวณชายฝั่งทะเลและสองฝั่งลำน้ำ สภาพดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ไม่เหมาะแก่การเกษตร เพราะเป็นดินร่วนปนทราย ชั้นล่างเป็นดินเหนียว หินลูกรัง และหินชั้นไม่อมน้ำ หน้าแล้งดินจะแห้งอย่างไรก็ตามระนองยังมีหาดทรายที่สวยงามหลายแห่ง เช่น หาดบางเบน หาดประพาส บริเวณน่านน้ำยังมีเกาะต่าง ๆ ประมาณ 62 เกาะ เช่น เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะสินไหง เกาะเหลา เกาะค้างคาว เป็นต้น

ลักษณะภูมิอากาศ

จังหวัดระนองอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดปี เฉลี่ยประมาณ 200 วัน ต่อปี ปีหนึ่งมี 2 ฤดู คือฤดูร้อนและฤดูฝน 1.ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม มีอากาศร้อนมากและนับวันจะร้อนมากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป 2.ฤดูฝน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง เพราะได้รับอิทธิพลของลมแตกต่างกัน
2.1 ช่วงที่หนึ่งระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม มีฝนตกชุกมาก เนื่องจากได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามัน
2.2 ช่วงที่สอง ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดมาจากฝั่งอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกเบาบาง อุณหภูมิไม่สูงนัก อากาศเย็นสบาย

การปกครอง

จังหวัดระนอง แบ่งการปกครองออกเป็น 4 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 30 ตำบล 172 หมู่บ้าน 50,254 หลังคาเรือน เทศบาล 6 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 26 แห่ง (ข้อมูลปี 2544) อำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอละอุ่น อำเภอกะเปอร์ อำเภอกระบุรี กิ่งอำเภอสุขสำราญ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

การเดินทาง

ระนองอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 568 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางสู่จังหวัดระนองได้ทั้งทาง
  • รถยนต์ส่วนตัวและรถประจำทางโดยรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2 หรือ ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ไปจนถึงจังหวัดระนองโดยรถ ประจำทางมีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ระนอง ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th ปัจจุบันบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com
  • การเดินทางภายในระนอง
ในตัวจังหวัดระนองมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม
รถสองแถวมีวิ่งบริการทั่วไปในเขตเทศบาลเมือง และจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง โดยรถจะจอดอยู่หน้าตลาดสดเทศบาล นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาขึ้นอยู่กับระยะทาง ระยะเวลา และการต่อรอง รถสามล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย
มีเรือของบังกะโลและรีสอร์ตต่างๆ ให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ระหว่างชายฝั่งกับเกาะพยามและเกาะช้างอยู่ที่ท่าเทียบเรือชาวเกาะ นักท่องเที่ยวสามารถเหมาเรือท่องเที่ยวเกาะต่างๆ ได้ ค่าโดยสารเรือยนต์เหมาไป-กลับ เกาะช้างประมาณ 1,500-2,000 บาท/ลำ เกาะพยามประมาณ 2,000-3,000 บาท/ลำ (เรือโดยสารได้ 20-25 คน)
ระยะทางจากอำเภอเมืองระนองไปยังอำเภอต่างๆ คือ
  • อำเภอละอุ่น 43 กิโลเมตร
  • อำเภอกะเปอร์ 52 กิโลเมตร
  • อำเภอกระบุรี 57 กิโลเมตร
  • อำเภอสุขสำราญ 85 กิโลเมตร