ประเพณีการแข่งว่าว...จังหวัดสตูล

on . Posted in อันดามันน่ารู้

01

การเล่นว่าวเป็นกีฬาที่นิยมกันทั่วโลก และเชื่อว่ามีมาตั้งแต่ ๔๐๐ ปีคริสตกาล ส่วนประวัติการเล่นว่าวในประเทศไทย เชื่อว่าได้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละภาคของประเทศไทยก็จะมีว่าวที่นิยมแตกต่างกันออกไป สำหรับจังหวัดสตูลว่าวพื้นบ้านที่นิยมเล่นมากที่สุดคือ ว่าวสัญลักษณ์จังหวัดสตูล
ประเพณีการแข่งขันว่าวจังหวัดสตูล เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ณ บริเวณสนามบิน ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล โดยชาวบ้านในตำบลคลองขุดร่วมกับคณะครูอาจารย์โรงเรียนสตูลวิทยาร่วมกันจัดขึ้น ในครั้งนั้นมีการแข่งขันใน ๓ ประเภท คือว่าวเสียงดัง ว่าวขึ้นสูง และว่าวสวยงาม มีว่าวแข่งขันกันประมาณ ๕๐ ตัว ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เพิ่มประเภทการแข่งขันขึ้นมา ๒ ประเภท คือ ประเภทความคิด และการแข่งขันทำว่าว ต่อมาในปี ๒๕๒๕ มีว่าวจากประเทศมาเลเซียเข้าร่วมแข่งขันด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้มอบถ้วยรางวัลให้กับผู้ชนะ มีว่าวจากประเทศไต้หวันเข้าร่วมแข่งขัน และจังหวัดสตูลเข้าร่วมแข่งขันว่าวในเทศกาลว่าวพัทยา ในพ.ศ.๒๕๓๒ ได้จัดตั้งชมรมว่าวสตูลเป็นครั้งแรก และร่วมแข่งขันว่าวที่สนามหลวง กรุงเทพฯ จังหวัดจันทบุรี และที่รัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย
ประเพณีการแข่งขันว่าวของจังหวัดสตูลจัดขึ้นในหน้าแล้งประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ในช่วงเวลาดังกล่าวมีลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดผ่านเป็นกระแสลมที่เหมาะแก่การเล่นว่าว การแข่งขันจริงจะเริ่มขึ้นในเช้าวันที่สองของการจัดงาน และสิ้นสุดลงในวันที่สาม ผู้ร่วมแข่งขันทุกคนจะต้องชำระเงิน และนำว่าวมาลงทะเบียน เพื่อให้คณะกรรมการตรวจคุณสมบัติของว่าวก่อนการแข่งขัน กิจกรรมที่แข่งขันแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเน้นการอนุรักษ์ว่าวพื้นเมือง จึงกำหนดให้ว่าวที่ทำการแข่งขันจะต้องทำจากกระดาษและไม้ไผ่เท่านั้น ได้แก่การแข่งขันทำว่าวควาย และการแข่งขันว่าวประเภทขึ้นสูงและประเภทเสียงดัง
การแข่งขันทำว่าวควาย ผู้แข่งขันแต่ละทีมเริ่มเหลาไม้ไผ่ทำโครงว่าวตามขนาดที่คณะกรรมการกำหนด ตัดกระดา ทากาว ทำแอกและประกอบกับตัวว่าวเพื่อให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด การแข่งขันว่าวประเภทขึ้นสูงและประเภทเสียงดัง เป็นการแข่งขันประเภททีม ทีมละ ๒ คน ในการแข่งขันจะไม่กำหนดรูปลักษณ์ (ชนิด) ของว่าว เพียงแต่ต้องทำจากกระดาษและไม้ไผ่เท่านั้น ว่าวแต่ละตัวต้องมีปีกกว้างระหว่าง ๑.๒๐ – ๑.๕๐ เมตร การแข่งขันประเภทขึ้นสูงจะใช้เชือกยาว ๑๕๐ – ๒๐๐ เมตร ผู้แข่งขันจะต้องปล่อยว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้าภายใน ๑๕ นาที การแข่งขันว่าวประเภทสวยงามและความคิด เป็นการแข่งขันประเภทเป็นทีม ๆ ละ ๒ คนเช่นกัน แต่ละทีมได้ออกแบบและใช้วัสดุเพื่อให้ว่าวเกิดความสวยงามแปลกตา มีความคิดสร้างสรรค์ มีความประณีตในการทำและมีสีสันงดงาม ทั้งในขณะบนพื้นดินและลอยอยู่บนท้องฟ้า ในประเภทสวยงามก็เน้นที่ความละเอียดประณีตในการทำ รูปทรงและสีสันที่สวยงาม ส่วนประเภทความคิดก็จะเน้นที่รูปทรงที่แสดงออกถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
เมื่อการแข่งขันว่าวแต่ละประเภทเสร็จสิ้นลง จะมีพิธีปิด มีการมอบถ้วยรางวัลพร้อมเงินสดแก่ผู้ชนะเลิศ และรองชนะเลิศในแต่ละประเภท การแข่งขันว่าวประเภทนี้เป็นอันเสร็จสิ้นลง แต่บนท้องฟ้ายังคงมีว่าวตัวใหญ่ ตัวเล็กตัวน้อยของเด็ก ๆ และเยาวชนที่จะสืบทอดประเพณีนี้ ล่องลอยและปลิวว่อนอยู่ทั่วสนามบินเมืองสตูล และทุกคนต่างรอคอยลมตะวันออกเฉียงเหนือที่จะพัดผ่านมาอีกครั้งในปีต่อไป
ที่มา:กรมศิลปากร. (2554). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสตูล. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.

 

02
03
04
05