วัดสุวรรณคูหา...จังหวัดพังงา

on . Posted in อันดามันน่ารู้

Wat Suwan 04

วัดสุวรรณคูหา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง อยู่ห่างจากจังหวัดพังงาราว 7 กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษม ระหว่างโคกกลอย-พังงา กม.ที่ 31 ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดถ้ำ เป็นวัดที่น่าสนใจและมีความสำคัญที่สุดของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ที่มีโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายอย่าง กล่าวคือ ด้านทิศตะวันออกของวัดสุวรรณคูหามีคลองขนาดเล็กสายหนึ่งไหลอ้อมโค้งหน้าวัดลงไปทางทิศใต้เพื่อออกสู่ทะเล และมีถ้ำหลายถ้ำ ที่สำคัญ คือ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว
ถ้ำใหญ่ อยู่ทางตอนล่าง เวลาเข้าถ้ำอื่น ๆ จะต้องผ่านก่อนเสมอ มีขนาดกว้างใหญ่มากกว่าถ้ำอื่นสมตามชื่อ คือ กว้างประมาณ 20 เมตรเศษ ยาวประมาณ 20 เมตรเศษ พื้นถ้ำเรียบเสมอกัน เพดานมีลักษณะโค้งครึ่งวงกลมเหมือนประทุนเรือตลอดความยาวของถ้ำ ประดับตกแต่งด้วยกระเบี้องถ้วยจานเชิงลายครามและเบญจรงค์ชนิดต่าง ๆ ประหนึ่งเป็นดอกไม้ ดวงดาว บ้างก็เป็นดาวล้อมเดือน อย่างสวยงาม ถ้ำใหญ่ใช้เป็นวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่จำนวนหลายองค์ ที่สำคัญมีลักษณะสวยงาม คือ พระพุทะไสยาสน์ ขนาดยาว 7 วา 2 ศอก พระนาคปรกองค์หนึ่ง และพระปรางค์บรรจุอัฐิโบราณวัตถุสถานทั้งหลายที่กล่าวนี้ พระยาบริสุทธิ์โลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) เจ้าเมืองตะกั่วทุ่งเป็นผู้สร้างขึ้นใหม่บ้าง บูรณะซ่อมแซมของเดิมขึ้นบ้าง โดยจ้างช่างปั้นมาจากภาคกลาง (ถ้าเป็นพระสงฆ์เรียกว่าท่านช่าง) ทำสำเร็จแล้วฉลองสมโภชเมื่อ พ.ศ. 2410 ความละเอียดมีอยู่ในศิลาจารึกซึ่งผู้สร้างสลักตั้งไว้ในถ้ำ
ถ้ำแจ้ง เป็นถ้ำตอนบน ลักษณะเป็นลานกว้างสว่างโล่ง ที่ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ อาทิ จปร. สว. 109 มว. 128 ปปร.2417 สก.2417 เป็นต้น ถัดจากถ้ำแจ้งเป็นวัดมืด วัดมืด มีหินงอกหินย้อยเหมาะสำหรับการท่องเที่ยว พอพ้นถ้ำแจ้งออกไปตรงเชิงเขาด้านนอกขวามือไม่ไกลนักมีถ้ำอยู่อีกแห่งหนึ่งเรียกว่าวัดแก้ว เป็นถ้าเล็กมีพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน 3 องค์อยู่บนอาสนะสูง ฝีมือช่างรุ่นเดียวกันกับถ้ำใหญ่ จากหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เราทราบว่า ถ้ำสุวรรณคูหาเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว เนื่องจากได้ขุดพบขวานหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ราว 3,000-4,000 ปี ในถ้ำใหญ่และบริเวณวัดหน้าถ้ำ จำนวน 14 เล่ม กำไลทำด้วยเปลือกหอย 1 วง และลูกปักหินสีส้ม นอกจากนี้ในเขตหมู่ที่ 6 ตำบลกระโสม เคยพบลูกปัดสีต่าง ๆ เสมอในฤดูฝน และในท้องที่ตำบลกระไหล ตำยลถ้ำ และบริเวณอำเภอทับปุด ได้พบขวานเช่นเดียวกัน
จากหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้เก็บรักษาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น แสดงว่าดินแดนแถบนี้เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้วนั่นเอง
ที่มา:กรมศิลปากร. (2554). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพังงา. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.

 

wat Suwan 02
Wat Suwan03
Wat Suwan01
Wat Suwan 05