แหล่งโบราณคดี ภาพเขียนสีถ้ำผีหัวโตและแหล่งโบราณคดี ภาพเขียนถ้ำโต๊ะหลวง...จังหวัดกระบี่

on . Posted in อันดามันน่ารู้

Paintings 3

ถ้ำผีหัวโตอยู่ที่บ้านบ่อท่อ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ การเดินทางไปถ้ำผีหัวโตจากตัวจังหวัดกระบี่ โดยเส้นทางหมายเลข 4 ช่วงระหว่างกระบี่ – อ่าวลึก ระยะทาง 45 กิโลเมตร ถึงสี่แยกอ่าวลึกเหนือ เลี้ยวซ้ายไปตามทางจังหวัดสายอ่าวลึก – แหลมสัก ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางชนบท ซึ่งลาดยางเรียบร้อยแล้วอีกประมาณ 2 กิโลเมตรถึงท่าเทียบเรือบ่อท่อ ต่อเรือหางยาวไปประมาณ 10 นาที ถึงแหล่งถ้ำผีหัวโต
ถ้ำผีหัวโตเป็นถ้ำอยู่ในภูเขาหินปูนในกลุ่มเขาถ้ำลอดใต้ ในแนวเทือกเขา ภูเก็ต หรือแนวเขาในกลุ่มหินราชบุรี ในยุคคาร์บอนิเฟอรัสถึงยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 230 –345 ล้านปีมาแล้ว สภาพแวดล้อมเป็นป่าโกงกาง จากแสม ตะบูน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เป็นถ้ำโปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวกมีแสงสว่างส่องเข้าไปได้หลายทิศทาง ลมสามารถพัดเข้าออกได้ตลอด ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยและแท่งหิน มีร่องรอยถูกรบกวนโดยชาวบ้านขุดคุ้ย มีกองเปลือกหอยทับถมอยู่เป็นจำนวนมาก มีทางขึ้นไปที่ปากถ้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันทำบันไดซีเมนต์ขึ้นสู่ปากถ้ำแหล่งโบราณคดี
ภาพเขียนถ้ำโต๊ะหลวงตั้งอยู่บ้านนบ ตำบลคลองหิน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จากตัวเมืองกระบี่โดยเส้นทางหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ช่วงระหว่างกระบี่ –อ่าวลึก ถึงบ้านนบตำบลคลองหิน และเดินเข้าไปในถนนชนบทได้ 2 ทางคือ เลี้ยวขวาที่โรงเรียนพระม่วง ผ่านบ้านชาวบ้านและสวนยางพาราเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร มีทางแยกเข้าไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงถ้ำโต๊ะหลวง เลี้ยวขวาที่ที่บ้านนบ ผ่านหน้าโรงเรียนบ้านคลองหิน แล้วมีทางแยกเลี้ยวขวาเล็กน้อยถึงถ้ำโต๊ะหลวง รวมระยะทางจากถนนใหญ่เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร
ภาพเขียนถ้ำโต๊ะหลวงเป็นภูเขาหินปูนอยู่บนที่ราบ แวดล้อมด้วยสวนยาวพารา มีร่องรอยที่ราบลุ่มเป็นแนวผ่านเชิงเขาซึ่งปัจจุบันตื้นเขินไปหมดแล้ว เป็นเพิงผา และโพรงถ้ำกว้างขวาง ซับซ้อนกันหลายชั้น แต่ละชั้นมีหินงอกหินย้อยเป็นถ้ำโปร่ง รูปร่างคล้ายองค์พระบ้าง คล้ายนาคบ้าง เข้าใจกันว่าถ้ำแห่งนี้เป็นที่สถิตของเจ้าพ่อโต๊ะหลวง มีลมพัดถ่ายเทได้สะดวก มีร่อยรอยการเข้าอยู่อาศัยและประกอบกิจกรรมของมนุษย์มาแต่สมัยโบราณ เพราะสภาพเดิมมีแหล่งน้ำเข้าถึง โพรงถ้ำเป็นที่พักพิงได้สะดวก พื้นถ้ำบางส่วนถูกขุดทำลายโดยชาวบ้านหาปุ๋ยฟอสเฟต (ขี้ค้างคาว) ไปทำปุ๋ยใส่ไร่นา บางส่วนถูกขุดค้นโดยพวกหาเหล็กไหล และทรัพย์สมบัติโบราณ ผนังถูกขีดเขียนบางพวกรวมทั้งเด็ก ๆ ในท้องถิ่น เป็นการทำลายภาพที่เราต้องการและทำลายความสวยงามของธรรมชาติ ชาวบ้านบางคนใช้เพิงถ้ำบางส่วนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นการทำลายธรรมชาติโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และทำให้เสียบรรยากาศอีกด้วย
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่พบในถ้ำหรือที่อยู่ภายในถ้ำโต๊ะหลวง จะปรากฏดังนี้ เครื่องมือหินกะเทาะประเภทเครื่องมือขุด ชิ้นส่วนกระดูกคน เศษชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา ภาพเขียนเก่า(ไม่ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์)ได้สะดวก ภายในถ้ำแบ่งเป็นสองคูหาใหญ่ ๆ เชื่อมต่อถึงกันได้เป็นบริเวณที่มีภาพเขียนสียุคสมัยของโบราณคดีถ้ำผีหัวโต นักโบราณคดีที่ศึกษาเรื่องนี้ให้ความเห็นว่า ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์สร้างผลงานเหล่านี้หรือบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน พิธีกรรมความเชื่อ หรือใช้สื่อสารกันระหว่างสื่อก็ได้ กลุ่มชนเจ้าของภาพมีทั้งชุมชนเจ้าของน้ำ หรือพวกที่อาศัยอยู่ตามถ้ำเกาะแก่งทั้งหลายในอ่าวพังงา อ่าวลึกที่ล้อมรอบอยู่ และชุมชนพื้นราบที่อาศัยถ้ำป่าเขาสัญจรทางบกเป็นกลุ่มชนหาของป่า ล่าสัตว์
ถ้ำหัวกะโหลกหรือถ้ำผีหัวโต ชาวบ้านแถบนี้รู้จักกันมานาน เดิมพบเศษกระดูก และหัวกะโหลกคนขนาดใหญ่ ภายหลังสูญหายไปกับนักท่องเที่ยวในสมัยแรก ๆ จากการพบหัวกะโหลกคนนี่เอง จึงเรียกชื่อต่อมาว่า “ถ้ำผีหัวโต” ตำแหน่งภาพเขียนของถ้ำผีหัวโต มีกระจัดกระจายทั้งคูหาที่ 1 และ 2 มีทั้งในระดับต่ำและสูง มีหลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มใหญ่มีแนวยาวตลอดผนัง กลุ่มเล็ก ๆ มีตามวอกเพดานทั่วไป ภาพเขียนส่วนใหญ่มักอยู่ในตำแหน่งที่แสงสว่างส่อง ซึ่งสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจน อาจมีบางภาพซึ่งอยู่ในที่สูงหรือค่อนข้างมืดตามหลืบและซอกมืดต่าง ๆ
ภาพเขียนถ้ำผีหัวโตนี้ได้สำรวจพบอยู่หลายตำแหน่งด้วยกันอยู่กระจัดกระจายกันเป็นกลุ่ม ทั้งกลุ่มเล็กไม่กี่ภาพ และกลุ่มใหญ่ที่มีภาพกระจายกันอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดแนวผนัง และแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะเด่นในตัวเองไม่ซ้ำกับกลุ่มอื่นด้วย
ที่มา:กรมศิลปากร. (2554). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดกระบี่. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.

 

Paintings 1
Paintings 2
Paintings 4
Paintings 5